การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 

เกษตรกรน้องใหม่สู่มืออาชีพ

ตอนที่ 1 การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

          ปัจจุบันมีคนหันมาสนใจทำอาชีพการเกษตรมากขึ้น ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ ข้าราชการหรือพนักงานวัยเกษียณ ประกอบกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง .. 256ที่เป็นส่วนกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินรกร้างเปลี่ยนแปลงที่ดินของตนไปทำการเกษตรเพื่อลดภาระภาษี

 

การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

          สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ยึดระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วย การขึ้นทะเบียนเกษตรกร .. 2560 เป็นหลัก โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

พื้นที่ประกอบการเกษตร หมายถึง พื้นที่ที่มีการปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และเกษตรอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ในส่วนของพืชผลทางการเกษตร กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับการทำนาหรือทำไร่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ต้องมีเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไป สำหรับการปลูกพืชผัก เห็ด หรือไม้ดอกไม้ประดับ หรือพืชอาหารสัตว์ ให้มีเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งงานขึ้นไป ส่วนไม้ผล ไม้ยืนต้น ต้องมีเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไปแต่มีข้อกำหนดเฉพาะว่าจะต้องมีจำนวนต้นไม่ต่ำกว่า 15 ต้นในพื้นที่นั้นๆ 

สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ กำหนดไว้ว่า หากเลี้ยงโคนม ต้องมีอย่างต่ำหนึ่งตัวขึ้นไป ส่วนการเลี้ยงโคหรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันต้องมีไม่ต่ำกว่าสองตัว ในกรณีของสัตว์เล็กอันได้แก่ สุกร แพะ แกะ ต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันตั้งแต่ห้าตัวขึ้นไป ส่วนสัตว์ปีก รับขึ้นทะเบียนเมื่อมีจำนวนตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดขนาดพื้นที่ ให้ยึดตามจำนวนที่ระบุไว้ข้างต้น ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้ระบุขนาดพื้นที่หรือกำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ 

ในกรณีของการทำนาเกลือ ตามระเบียบฯ กำหนดไว้ว่าต้องมีเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไป 

ส่วนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจต่างๆ รวมไปถึงผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงแมลงเหล่านั้น เช่น ชีวภัณฑ์ ไม่ได้กำหนดขอบเขต ขนาด หรือจำนวนแต่อย่างใด 

ทั้งนี้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ทำการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปเบื้องต้นนั้น ให้ยึดหลักเกณฑ์เรื่องของรายได้ที่ต้องมีตั้งแต่ 8,000 บาทต่อปีขึ้นไป

สำหรับการประเมินตามกฎหมายภาษีที่ดินฯ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าเกณฑ์ในระเบียบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร คือ กำหนดจำนวนของพืชที่ปลูก และสัตว์ที่เลี้ยงต่อพื้นที่อย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ระบุพื้นที่ทำการเกษตรขั้นต่ำเหมือนดังเช่นระเบียบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เช่น ตามระเบียบการขึ้นเบียนเกษตรกร ระบุไว้ว่าพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นต้องมีหนึ่งไร่ขึ้นไปและจำนวนไม้ต้นต้องมีมากกว่า 15 ต้น แต่ตามกฎหมายภาษีที่ดินฯ ไม่ระบุจำนวนพื้นที่ขั้นต่ำ แต่กำหนดจำนวนต่อพื้นที่ขั้นต่ำแทน เช่น กล้วยต้องปลูกขั้นต่ำ 200 ต้นต่อไร่ มะนาว 50 ต้นต่อไร่ ส้มโอ 45 ต้นต่อไร่ พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ 100 ต้นต่อไร่ เป็นต้น ส่วนการเลี้ยงสัตว์ โคหรือกระบือ 1 ตัวต่อพื้นที่ 5 ไร่ หรือ 1 ตัวต่อพื้นที่คอกหรือโรงเรือน 7 ตารางเมตร แพะ แกะ 1 ตัวต่อไร่ สัตว์ปีกอ้างอิงตามมาตราฐานปศุกสัตว์อินทรีย์ คือ 1 ตัวต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตรนอกจากนี้การทำประมงและการทอผ้าไม่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายภาษีที่ดินฉบับนี้ 

จากข้อกำหนดข้างต้น คงจะทำให้ผู้ที่สนใจเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรคิดวางแผนขนาดพื้นที่และจำนวนพืชผลทางการเกษตรไว้คร่าวๆ เพื่อทำให้ตนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรได้ สำหรับบทความหน้าจะเล่าถึงรูปแบบการเกษตรที่เรียกว่า เกษตรยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบฟาร์มของเกษตรกรต่อไป 

อ้างอิง
กฎกระทรวง กำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562. (2562, 25 ธันวาคม). ราชกิจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 141 ก. 
ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม.(2563, 29 พฤษภาคม). ราชกิจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 126 ง. 
พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497. (2497, 30 พฤศจิกายน). ราชกิจานุเบกษา. เล่ม 71 ตอนที่ 78 ฉบับพิเศษ. 

ค่าความไม่รู้ แพงกว่าค่าความรู้เสมอ
ถ้าคุณสนใจความรู้สาระแบบนี้
กดติดตามเพจ นิทานบ้านไร่ bokujou.org ด้านล่างนี้

Top