การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน

          ข้าวโพดฝักอ่อนทำรายได้ให้กับผู้ปลูกดีมาก เพราะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในรูปของผักสดและการบรรจุกระป๋องเป็นสินค้าส่งออก ถือเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง
          ข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ใช้เวลาปลูกเพียง 45 – 47 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ จึงปลูกได้ปีละหลายครั้ง เป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ส่วนที่เหลือ เช่น ช่อดอกตัวผู้และเปลือก ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ดี จึงสามารถทำกิจกรรมควบคู่กับงานเลี้ยงสัตว์ได้อย่างดียิ่ง

พันธุ์แนะนำ

  1. พันธุ์สุวรรณ เป็นพันธุ์ผสม มีอายุเก็บเกี่ยว 45 – 50 วัน เจริญเติบโตเร็ว ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมดี ทนต่อโรคและแมลง ต้านทานโรคราน้ำค้าง ให้ผลผลิตทั้งฝักทั้งเปลือกประมาณ 800 – 1,000 กก.ต่อไร่ มี 1 – 3 ฝักต่อต้น ฝึกอ่อนเมล็ดละเอียดสวย ขนาดฝึก 7 – 10 เซนติเมตร สีขาวครีมหรือสีเหลืองอ่อน
  2. พันธุ์ไทยซุปเปอร์สวีทคอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์ นิยมปลูกค่อนข้างมาก มีรสหวาน อายุเก็บเกี่ยวครั้งแรก 50 – 55 วัน ต้านทานโรคราน้ำค้างพอควร เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง ถ้าดินสมบูรณ์และดูแลรักษาดีจะให้ผลผลิตทั้งฝักและเปลือกเกิน 1,000 กก.ต่อไร่ ฝักสวย เมล็ดเล็กเป็นระเบียบสีเหลือง ขนาดฝัก 9 – 11 เซนติเมตร
  3. พันธุ์ KTX 2602 ลักษณะฝักอ่อนสวย สีขาวครีม ต้นแข็งแรงต้านทานโรคราน้ำค้าง ทนสภาพแห้งแล้ง อายุเก็บเกี่ยว 55 – 60 วัน ให้ผลผลิตทั้งเปลือก 1,000 – 1,100 กก.ต่อไร่ มี 1 – 2 ฝักต่อต้น แต่ถ้าเก็บช้ามักมีขนาดใหญ่เกินมาตรฐาน
  4. พันธุ์ไทยคอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์ ฝักสีทอง รสชาติหวานจัด เปลือกบาง ขนาดฝึกสม่ำเสมอ เมล็ดเล็ก อายุเก็บเกี่ยวเร็ว 39 วัน หากดินดีจะโตเร็วและให้ผลผลิตสูง น้ำหนักทั้งเปลือก 1,200 – 1,600 กก. ต่อไร่ มี 3 – 4 ฝักต่อต้น
  5. พันธุ์รังสิต 1 การเจริญเติบโตเร็ว อายุเก็บเกี่ยว 50 – 55 วัน ผลผลิตทั้งเปลือก 1,000 – 1,100 กก.ต่อไร่ ฝักยาวตรง

ดินและการเตรียมดิน

  • สามารถปลูกได้ทั้งสภาพร่องสวนและสภาพไร่ ดินควรระบายน้ำได้ดี เนื้อดินร่วนซุย ความเป็นกรดด่างควรอยู่ระหว่าง 6.5 – 7.5 หากดินเป็นกรดต่ำกว่า 5 ก่อนปลูก 1 เดือนหว่านปูนขาวให้ทั่วแปลง 500 – 700 กก.ต่อไร่
  • ดินร่องสวนควรยกให้มีสันแปลงกว้าง 3.5 – 4.5 เมตร เว้นที่สำหรับเป็นทางเดินรอบๆ แปลงครึ่งเมตร สองข้างเป็นร่องน้ำกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร พลิกหน้าดินบริเวณสันแปลงลึก 1 คืบ ตากดินทิ้งไว้ 7 – 10 วัน หลังจากนั้นจึงย่อยหน้าดินให้ร่านซุยอีกครั้ง
  • ดินไร่ ไถบุกเบิกพลิกหน้าดินลึก 1 คืบ ตากดินไว้ให้แห้ง 7 – 10 วัน จากนั้นย่อยหน้าดินให้ร่วนซุยและชักร่องปลูกให้มีระยะห่างระหว่างร่อง 50 เซนติเมตร ลึก 10 เซนติเมตร
  • ข้าวโพดฝักอ่อนสามารถปลูกได้ตลอดปีหากมีน้ำเพียงพอ คุณภาพฝักในแต่ละฤดูจะแตกต่างกัน ในฤดูแล้งฝักจะคุณภาพไม่ดีหากขาดน้ำมาก

วิธีปลูก

  • ใช้เมล็ดพันธุ์ 4 – 5 กิโลกรัมต่อไร่ ควรคลุกสารเคมีพวก เอพรอน 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก. การปลูกอาจใช้ระยะระหว่างแถวต่อต้น 75×25 เซนติเมตร หยอด 3 เมล็ดต่อหลุม ถอนแยกเมื่ออายุ 14 วัน เหลือ 2 ต้นต่อหลุม จะมีจำนวน 17,000 ต้นต่อไร่ หรือใช้ระยะระหว่างแถว 50×50 เซนติเมตร หยอด 4 เมล็ดต่อหลุม ถอนแยกเมื่ออายุ 14 วัน เหลือ 3 ต้นต่อหลุม จะมีจำนวน 19,200 ต้นต่อไร่
  • หลุมปลูกควรใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 หรือ 21-0-0 หรือ 45-0-0 อัตรา 30 – 50 กก.ต่อไร่ กลบเมล็ดพันธุ์หนา 4 – 5 เซนติเมตร ปลูกเสร็จแล้วรดน้ำให้ทันที

การให้น้ำและใส่ปุ๋ย

  • การให้น้ำ ข้าวโพดฝักอ่อนต้องการน้ำสม่ำเสมอนับตั้งแต่วันปลูกจนเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว หากขาดน้ำแล้วจะมีลักษณะผิดปกติโดยเฉพาะในช่วงที่กำลังออกฝัก เช่น ผอมลีบ เป็นซังแห้ง ร่องฝักห่าง
  • การปลูกในร่องผักควรให้น้ำวันละครั้งโดยการใช้แครงสาดหรือใช้เครื่องพ่นน้ำ ในที่ไร่ควรให้น้ำทุกวันเช่นกัน ถ้าทำไม่ได้ควรให้ 2 วันต่อครั้ง โดยใช้วิธีให้น้ำไปตามร่อง
  • การใส่ปุ๋ย เมื่อต้นข้าวโพดมีอายุได้ 15 วัน หรือต้นมีความสูง 1 คืบ ให้ถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกเหลือหลุมละ 2 ต้น แล้วพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืชพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยโรยข้างแถวปลูกห่างจากโคนต้นประมาณ 1 ฝ่ามือ หลังจากนั้นจึงกลบปุ๋ยด้วยดินและพูนโคนต้นในคราวเดียวกัน
  • ปุ๋ยที่ใช้ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปุ๋ยยูเรีย แต่ถ้าเป็นด่างควรใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 1 – 2 โต๊ะต่อต้น

การกำจัดวัชพืชและโรคแมลง

  • นอกจากใช้แรงคนถากถางแล้ว อาจใช้สารเคมี เช่น อาทราซีน ฉีดพ่นหลังจากปลูกเสร็จ หรือเมื่อดินยังเปียกอยู่
  • เนื่องจากข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยวสั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลงรบกวน แต่ถ้าพบว่าระบาด สามารถใช้สารเคมีฉีดพ่นเป็นครั้งคราว ควรเลือกใช้ชนิดที่มีพิษตกค้างสั้นและน้อยที่สุด

การถอดดอก

เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน ช่อดอกตัวผู้จะเริ่มโผล่ออกมาจากยอด มีลักษณะอัดแน่นในกาบใบเป็นรูปหอก ให้ถอดช่อดอกตัวผู้ทิ้งก่อนที่จะบาน ใช้มือหนึ่งจับลำต้น อีกมือหนึ่งจับยอดดึงออกมาตรงๆ การถอดดอกป้องกันมิให้ผสมพันธุ์กัน จะทำให้ฝักอ่อนด้อยคุณภาพลงเนื่องจากเมล็ดจะโป่งพองเป็นเม็ดใส การถอดดอกยังช่วยเร่งให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น

การเก็บเกี่ยว

  • จะเริ่มเก็บเกี่ยวฝักอ่อนเมื่อมีไหมโผล่มา 1 – 2 เซนติเมตร การหักฝักควรหักต้นลงด้วย เพื่อจะทำให้เห็นต้นที่เก็บแล้ว ฝักจะไม่หลงสูญเสียมาก และควรเก็บฝักอ่อนทุกวันจะทำให้ได้ฝักมีขนาดและคุณภาพดี
  • อายุเก็บเกี่ยวข้าวโพดจะขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์ ในฤดูหนาวจะเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่ากำหนด ฝักรุ่นหลังๆ มักจะมีคุณภาพต่ำ ฝักสั้นและผิดปกติ โดยมากจึงเก็บเพียง 7 – 8 ครั้ง เก็บแล้วควรรีบส่งทันที ในกรณีที่อยู่ในระหว่างรอการขนส่ง ควรกระจายผึ่งไว้ อย่ากองสุมจะเกิดความร้อนทำให้ฝักเน่าเสียได้ การปอกเปลือกใช้มีดเล็กปลายแหลมกรีดเบาๆ ไปตามความยาวฝัก จากนั้นขวั้นรอบโคนฝึก แล้วแกะเปลือกออกตามรอยกรีด
  • โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นตลาดฝักอ่อนสดหรือโรงงานบรรจุกระป๋องต่างต้องการฝึกที่ปอกเปลือกแล้วมีแกนสีเหลืองอ่อนขนาด 7 – 9 เซนติเมตร กว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ความยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฝึกสั้นที่สุดไม่ต่ำกว่า 4 เซนติเมตร

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ

Top