การปลูกถั่วฝักยาว

          ถั่วฝักยาวอุดมไปด้วยกากใย หรือไฟเบอร์ วิตามินซี, ฟอสฟอรัส นอกจากจะเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังช่วยปรับปรุงดินอีกด้วย เพราะโดยธรรมชาติ ระบบรากของพืชตระกูลถั่วจะมีการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในดิน

          ถั่วฝักยาว เป็นพืชอายุสั้น ปลูกได้ตลอดปี ปลูกเพียงเดือนกว่า ก็สามารถเก็บฝักได้ทุกวัน อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตไม่สูง ดูแลไม่ยาก จึงเหมาะกับเกษตรกรมือใหม่ที่เริ่มปลูกเพื่อขาย หรือผู้ที่สนใจลองปลูกไว้กินเองภายในบ้าน

    • ถั่วฝักยาวสามารถปลูกได้ทุกภาค ยิ่งอากาศร้อนมากยิ่งเติบโตได้ดี
    • ปลูกได้ในดินทุกชนิด โดยปลูกในดินร่วนปนทรายจะเติบโตได้ดีที่สุด
      เพราะดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี
      ความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง 5.5 – 6.8

พันธุ์ถั่วฝักยาว แบ่งโดยแหล่งที่มา และสีของเมล็ด

1. แบ่งตามแหล่งที่มาของพันธุ์

พันธุ์ของทางราชการ ได้แก่ พันธุ์พิจิตร 1 พันธุ์ มก. 8, พันธุ์ของบริษัทเอกชน ได้แก่ พันธุ์บางบัวทอง พันธุ์ยาววิเศษ พันธุ์เขียวดก พันธุ์กรีนพอท พันธุ์แอร์โรว์ พันธุ์ลำน้ำพอง พันธุ์เกาซุง และพันธุ์ซุปเปอร์ดก พันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์ถั่วด้วง (สระบุรี) พันธุ์ดำเนิน (ราชบุรี)

 2. แบ่งตามลักษณะสีของเมล็ดพันธุ์

เมล็ดสีแดง ดอกสีม่วงอ่อนหรือม่วง ฝักสีเขียว, เมล็ดสีแดงเข้ม ดอกสีม่วง ฝักสีม่วงเข้ม, เมล็ดสีขาว ดอกสีครีม ฝักสีเขียวอ่อน, เมล็ดสีดำ ดอกสีม่วง ฝักเขียวเข้ม และพันธุ์เมล็ดสีแดงด่างขาว ดอกสีม่วงฝักสีเขียว

การเตรียมดิน

  • ระบบรากของถั่วฝักยาวค่อนข้างละเอียดอ่อน การเตรียมดินที่ดีจะช่วยให้การเจริญเติบโตสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
  • ขั้นตอนแรกให้ไถพรวน ความลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อทำลายไข่แมลงและฆ่าเชื้อโรค
    เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด จากนั้นจึงไถคราด
    ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วเพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น
  • การยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร
    โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง และเตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเข้าไปปฏิบัติงานกว้างประมาณ 0.5-0.8 เมตร

วิธีปลูก

  • การปลูกถั่วฝักยาวในพื้นที่ 1 ไร่จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3 – 4 กิโลกรัม
    • ก่อนปลูกควรคัดเมล็ดที่มีตำหนิออก และคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงด้วย
  • การเตรียมหลุมปลูก
    • ระยะห่างระหว่างแถว 80 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร
    • หลุมปลูกลึก 4 – 6 นิ้ว
    • ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 ใส่หลุมละครึ่งช้อนแกงคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • หยอดเมล็ดหลุมละ 3 – 4 เมล็ด แล้วกลบดินให้ลึกประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร
    รดน้ำตามทันที ในระยะแรก 1 – 7 วัน ควรให้น้ำทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง
  • หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว 5 – 7 วัน จะเริ่มงอก รอจนมีใบจริง 4 ใบ ให้ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม
    ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำและอาหาร

ปัญหาการปลูกถั่วฝักยาวในแต่ละฤดู

อุปสรรคหน้าร้อน

ปลูกถั่วฝักยาวในหน้าร้อนจะพบกับปัญหาการระบาดของแมลง เช่น เพลี้ยไฟ และ แมลงหวี่ขาว ซึ่งเป็นสาเหตุของใบด่างเหลืองในถั่วฝักยาว

อุปสรรคหน้าฝน
  • พบปัญหาเฝือใบ จะทำให้มีผลผลิตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ต้นถั่วฝักยาวจะสร้างแต่ใบ ควบคุมการให้น้ำ เช่น ให้น้ำน้อยลง เป็นต้น จัดการแปลงปลูก ไม่ให้น้ำฝนท่วมขัง และไหลซึมออกจากแปลงได้อย่างรวดเร็ว ควบคุมปุ๋ย โดยการควบคุมเฉพาะ ปุ๋ย ตัวหน้าสูง หรือไนโตรเจนสูง เช่น  46-0-0 , 25-7-7 และ21-0-0 เป็นต้น ไม่ให้เยอะจนเกินไป แต่เน้นไปใส่ ปุ๋ยอื่นๆ ที่มีหน้าที่สร้าง แป้ง น้ำตาล แทน เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และโบรอน เป็นต้น
  • ข้อควรระวัง การใช้ จิบเบอเรลลิน จิ๊บโต้-2 เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ที่ทำให้ถั่วฝักยาวเกิดอาการบ้าใบ และยั้บยั้งการออกดอก ใช้สารชะลอการเจริญเติบโต ซึ่งมีผลยั้บยั้ง จิบเบอเรลลิน อีกที เช่น คลอมีควอท แดมิโนไซด์ เมพิควอทคลอไรด์ และแพคโคบิวทาโซล เป็นต้น เมื่อพบปัญหาแล้วให้ใช้วิธี แก้บ้าใบ ด้วย เมมเบอร์ หรือ ฮอร์โมนเปลี่ยนเพศดอก ซิป ฉีดเมื่อพบปัญหาต้นเฝือใบ (วิธีนี้จะขอแนะนำเป็นวิธีสุดท้าย เนื่องจากสารดังกล่าวจะสะสมในดิน และก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว)
อุปสรรคหน้าหนาว
  • จะพบปัญหายอดไม่เดิน หาก ถั่วฝักยาวเจออากาศหนาวเกินไปจะทำให้การเจริญเติบโตของถั่วฝักยาวช้าลง เนื่องจากระบบรากไม่ทำงาน
  • ควรใช้ ชุดคลายเครียด ใน1ชุดจะมี ธาตุสังกะสีในพืช ซิงค์ เบอร์ดี้ ที่มีส่วนผสมของสังกะสี และ อะมิโนพืช เอ็นเนอร์จี น้ำตาลทางด่วนช่วยลดความเครียด

การให้น้ำ

  • ถั่วฝักยาวต้องการน้ำพอดีๆ อย่างสม่ำเสมอและไม่แฉะจนเกินไป
  • ระยะเจริญเติบโตหลังจากถอนแยกแล้ว ต้องการน้ำทุก 3 – 5 วันต่อครั้ง
    โดยตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต
  • การให้น้ำอาจใช้วิธีใส่น้ำเข้าตามร่อง หรืออาจจะใช้วิธีตักรดโดยตรงก็ได้

การปักค้าง

  • ถั่วฝักยาวต้องอาศัยค้างเกาะพยุงลำต้นให้ไหลเลื้อยพันขึ้นไปจึงจะได้ผลผลิตดี
  • ไม้ที่จะใช้ทำค้างใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นๆ ขนาดความยาว 2.5 – 3 เมตร
    หรืออาจสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน ต่อเชือกห้อยลงมายังต้นถั่วให้เลื้อยขึ้นไปก็ได้
  • ระยะเวลาใส่ค้างนั้นจะเริ่มหลังจากเมล็ดงอกแล้ว 15 – 20 วัน
    ไม้ปักค้างจะปักหลุมละ 1 ค้าง ให้ตั้งฉากกับผิวดิน หรือปักหลุมละ 1 ค้าง
    แต่ให้เอียงเข้าหาร่องเป็นคู่ แล้วมัดปลายเข้าด้วยกัน
    ใช้ไม้ไผ่พาดยึดค้างด้านบนให้แข็งแรง หรือปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง
    โดยให้เอียงเข้าหากันกลางร่องเป็นคู่ แล้วมัดปลายโดยใช้ไม้ค้ำยันแต่ละคู่เป็นแบบกระโจม
    หากไม่มีค้างยาก ผู้ปลูกจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน ใช้เชือกห้อยลงมาให้ต้นถั่วเลื้อยเกาะ

การใส่ปุ๋ย

  • นอกจากจะใส่ขณะที่เตรียมหลุมปลูกในตอนแรกแล้ว เมื่อต้นถั่วฝักยาวอายุประมาณ 15 วัน
    • ในดินร่วน หรือร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 5-10-5 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่

    • ในดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่

    • ในดินทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่

    • วิธีใส่พรวนดินแล้วโรยปุ๋ยรอบๆ ให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร 1 ช้อนแกงต่อหลุม
      ใช้ดินกลบเพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยสูญเสียไปในอากาศ และหากใส่ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยคอกในระยะนี้ก็จะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • เมื่อเก็บผลครั้งแรก หรืออายุประมาณ 55 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเดิมประมาณ 2 ช้อนแกงต่อต้น
    หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยระหว่างช่วงเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอและปริมาณเพียงพอจะทำให้เก็บถั่วฝักยาวได้นาน ผลผลิตมีคุณภาพดีและปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

การเก็บเกี่ยว

          ก่อนเก็บเกี่ยวควรมีการตัดแต่งฝักที่อยู่ระดับล่างออกบ้าง เพื่อไม่ให้ทั้งต้นโทรมเสียก่อน และทำให้ฝักที่อยู่ส่วนยอดเต่งตึงงามไม่ลีบ โดยเฉพาะเมื่อปลูกในฤดูฝน จะช่วยไม่ให้ฝักนอนอยู่บนผิวดิน เป็นการลดปัญหาการระบาดของโรคและปัญหาเมล็ดแก่งอกในฝักได้ระดับหนึ่ง
          ถั่วฝักยาวจะเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 55 วัน การเก็บเกี่ยวนั้นอาจจะสังเกตจากลักษณะฝักที่ตรงตามความต้องการของตลาด วิธีการเก็บให้ปลิดขั้ว โดยระมัดระวังไม่ให้ดอกใหม่หลุดเสียหายเพราะจะกระทบกระเทือนต่อปริมาณผลผลิตควรทยอยเก็บทุกๆ 2 วัน ไม่ปล่อยให้ฝักแก่คาค้าง ปกติแล้วระยะเวลาในการให้ผลผลิตของถั่วฝักยาวอยู่ในช่วง 1.5 – 2 เดือนหรืออาจเก็บได้ 20 – 40 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสายพันธุ์ที่ปลูกในขณะนั้น

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “ถั่วฝักยาว” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบชอบบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ 

Top