การปลูกถั่วพู

          ถั่วพู ต้นเป็นเถา ใบคล้ายถั่วแขกแต่มีขนาดเล็กกว่า ฝักเป็นพูสี่เหลี่ยม สันของแต่ละพูเป็นครีบคล้ายปีก ฝรั่งจึงเรียกว่า วิงบีน (winged bean) ถ้าตัดตามขวางของฝักส่วนที่ถูกตัดจะมีรูปเป็นดาวสี่แฉก
          ในชนบทปลูกถั่วพูตามรั้วบ้านหรือในสวนหลังบ้าน เมื่อต้นโตพอสมควรแล้วก็จะเริ่มออกฝักในฤดูฝน และจะออกฝักติดต่อกันจนหมดฤดูฝนแล้วจะตายไปในที่สุด แต่พอถึงฤดูฝนถัดไปก็จะมีหน่องอกออกมาเป็นต้นอีก
          ฝักอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ ทั้งในรูปผักสดใช้จิ้มน้ำพริกทำให้สุกใช้ต้ม นึ่ง ใส่ห่อหมกปลา แกงส้ม ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมทำทอดมันปลากราย ผัดกับหมู เนื้อ ไก่ กุ้ง ก็ได้ เป็นผักที่ปลูกได้ตลอดปี เหมาะสำหรับปลูกในฤดูฝน จะปลูกในแปลงทำค้างคล้ายถั่วฝักยาว หรือปลูกริมรั้วโดยใช้รั้วเป็นค้าง เมื่อวายแล้ว เหง้าในดินจะงอกต้น บำรุงให้ดีจะออกฝึกให้เก็บได้อีก แต่การที่จะเอาไว้ให้เจริญเช่นนั้นหลายๆ รุ่นจะไม่ใคร่งาม ออกฝักน้อย จึงควรปลูกใหม่เมื่อต้นวายแล้ว

ลักษณะทั่วไปของถั่วพู

          ถั่วพูเป็นไม้เลื้อย ส่วนเหนือดินเป็นพืชล้มลุก อายุเพียงไม่กี่เดือนก็จะตาย แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดินจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปถ้ามีความยินเพียงพอ ลำต้นเป็นประเภทเถาเลื้อย ถ้าหากมีค้างจะทอดยอดได้ถึง 4 เมตร ใบมีใบย่อย 3 ใบ ดอกมีสีฟ้า ขาวหรือม่วง เป็นดอกสมบูรณ์เพศและผสมตัวเอง
          ฝักมีรูปร่างยาว มีสี่ด้าน มีลักษณะเป็นปีกกางออกไปตามเส้นทแยงมุมของรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดของฝักยาวตั้งแต่ 6 – 36 เซนติเมตร มีเมล็ดตั้งแต่ 5 – 20 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างกลมหรือทรงกระบอก ผิวเป็นมัน มีสีหลายสี ตั้งแต่สีขาว ครีม เหลือง น้ำตาล ดำ และลวดลายด่างต่างๆ กัน มีน้ำหนัก 0.06 – 0.40 กรัมต่อเมล็ด
          การเจริญเติบโตแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกกินเวลาประมาณ 20 วัน ฝักจะโตถึงขนาดใหญ่ที่สุด
          ระยะที่สอง ใช้เวลาประมาณ 44 วัน เมล็ดจะแก่ ฝักจะเหี่ยวแห้งลง
          ถั่วพูเป็นพืชที่มีระบบการสร้างปมรากที่กว้างขวางมากที่สุดในบรรดาพืชตระกูลถั่ว ต้นหนึ่งๆ อาจมีปมมากถึง 440 ปมจะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ แต่ละปมจะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ปมใหญ่ๆ ปมหนึ่งจะมีน้ำหนักสดถึง 0.6 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เซนติเมตร
          ถั่วพูสามารถขึ้นได้ในสถานที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเล จนถึงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร และระหว่างเส้นขนาน 20 องศาเหนือและ 10 องศาใต้ ซึ่งอยู่ในเขตเอเชียเขตร้อน
          เชื่อกันว่าถั่วพูต้องการสภาพวันสั้นในการกระตุ้นให้เกิดดอก ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปปลูกในเขตอบอุ่น ถั่วพูมักจะไม่ออกดอก ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอุณหภูมิแต่ประการใด ถั่วพูเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงขึ้นได้ดีในเขตร้อนชุ่มชื้น ถ้ามีน้ำก็ขึ้นได้ในเขตร้อนทุกแห่ง แต่ถ้าประสบกับภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานานก็จะตายเหมือนกัน แม้ว่าจะมีระบบรากที่มากมายและมีหัวใต้ดินก็ตาม

พันธุ์ถั่วพู

          ถั่วพูจัดได้ว่าเป็นพืชที่มีพันธุ์แตกต่างกันมาก ในประเทศปาปัวนิวกินี ซึ่งชาวพื้นเมืองปลูกถั่วพูเป็นอาหารหลักมาเป็นเวลาช้านานแล้ว มีพันธุ์ถั่วพูทั้งสิ้นประมาณ 122 สายพันธุ์ ในประเทศพม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พันธุ์ถั่วพูก็มีลักษณะแตกต่างกันมาก สำหรับในประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันมากเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องสี ขนาด และรูปร่างของเมล็ด

ความแตกต่างในลักษณะของพันธุ์ถั่วพูที่เห็นชัดคือ
    1. สีของฝัก มีตั้งแต่สีเขียว ม่วงอ่อน ม่วงแก่ นอกจากนั้นสีของกลีบฝึกทั้งสีก็ยังแตกต่างกัน บางพันธุ์มีลายเป็นทางสีเหลืองบนพื้นสีม่วง เป็นต้น
    2. รูปร่างของฝัก ถ้ามองภาพหน้าตัดของฝักจะพบว่า ถั่วพูส่วนใหญ่มีแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีกลีบทั้งสี่ยื่นออกไปในแนวเส้นทแยงมุม แต่ก็มีบางพันธุ์ที่กลีบทั้งสียืนออกไปในแนวของด้าน 2 ด้านขนานกัน บางพันธุ์ฝักแบนมาก และบางพันธุ์ส่วนแบนอยู่ตรงด้านรอยแตก
    3. สีของเมล็ด มีพบตั้งแต่สีเกือบขาว สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลแก่ จนถึงสีดำ นอกจากนั้นยังพบลวดลายต่างๆ บนเมล็ดอีกด้วย
    4. ผิวของฝัก มีพบทั้งที่เป็นผิวเรียบ ขรุขระเล็กน้อย และขรุขระมาก

การปลูก

          การปลูกถั่วพูควรปลูกในต้นฤดูฝน หลังจากการเตรียมดินดีแล้วก็หยอดเมล็ดลงในหลุมที่เตรียมไว้ลึกประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร หลุมละ 3 เมล็ด สำหรับการปลูกเพื่อเก็บฝักอ่อน และปลูกเพื่อเก็บเมล็ดแก่ใช้ระยะ 100×100 หรือ 60×60 เซนติเมตร ส่วนการปลูกเพื่อเอาหัว ระยะปลูกถี่ลงมาก คือ ระยะหลุมห่าง 7.5 – 15 เซนติเมตร ก่อนจะทำการปลูกควรจะนำเมล็ดแช่น้ำไว้ 1 คืน เพื่อให้เมล็ดพองตัว ถ้าเมล็ดไหนไม่พองตัวให้ช่วยโดยใช้ปลายมีดสะกิด ในพื้นที่ 1 ไร่ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยว

          หลังจากปลูกแล้วประมาณ 10 สัปดาห์ ถั่วพูจะเริ่มออกดอก และหลังจากผสมพันธุ์แล้ว 2 สัปดาห์ฝักก็มีขนาดพอเหมาะที่จะเก็บไปบริโภค ถ้าปล่อยให้แก่ถึง 3 สัปดาห์ ฝักจะมีเสี้ยนมากจนไม่เหมาะที่จะนำไปรับประทาน เมล็ดจะแก่ภายใน 6 สัปดาห์ หลังจากผสมพันธุ์ต้นถั่วพูจะทยอยกันออกดอกตลอดไป ตราบใดที่ยังมีความชุ่มชื้น แต่เมื่อต้นแก่มากแล้ว ผลผลิตจะตกลงมากจนไม่คุ้มที่จะบำรุงรักษาต่อไป

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกถั่วพู” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarmการปลูก

ถ้าชอบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ

Top