การปลูกถั่วลันเตา

  • ถั่นลันเตา ชื่อสามัญ Sugar pea, Sweet peas, Garden pea, Pea
  • ถั่วลันเตา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วลันเตาเปลือกหนา ถั่วหวาน ถั่วแขก ถั่วลันเตา (ไทย), ถั่วน้อย (พายัพ) เป็นต้น
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Pisum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

          ลันเตา หรือ ถั่วลันเตา เป็นผักที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมีการเพาะปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารมานานหลายพันปีแล้ว โดยเชื่อว่าถั่วลันเตาเดิมทีแล้วเป็นถั่วป่า มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตอนกลาง หรือบางทีอาจเป็นอินเดีย และนักวิชาการให้การยอมรับว่าสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในแถบชายแดนไทยพม่านี่เอง เพราะมีหลักฐานย้อนกลับไปถึงกว่าหนึ่งหมื่นปี

          ชื่อของถั่วลันเตามาจากภาษาจีนที่เรียกว่า “ห่อหลั่นเตา” ซึ่งหมายถึงฮอลแลนด์ ส่วนคำว่า “เตา” ในภาษาจีนก็แปลว่าถั่ว สรุปถั่วลันเตาก็คือถั่วที่มาจากฮอลแลนด์ โดยจัดเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่อาหารจีนประเภทผัดผักจะขาดเสียไม่ได้[1]

พันธุ์

  • ภาคเหนือนิยมปลูกพันธุ์ที่เรียกว่า ถั่วน้อย
    • ชื่อเรียกทางวิชาการพันธุ์ 2-2003-6
    • ลักษณะฝักเล็ก ดอกสีม่วง ความสูงของต้นเฉลี่ย 150 – 180 เซนติเมตร
    • มีเมล็ดในฝัก 6 – 7 เมล็ด
  • พันธุ์ฝางเบอร์ 7
    • มีลักษณะฝักใหญ่ คุณภาพฝักดี กรอบ หวานเล็กน้อย
    • ต้นสูง 150 – 180 เซนติเมตร ดอกสีม่วง
    • อายุเก็บเกี่ยว 120 – 135 วัน
  • พันธุ์แม่โจ้ 1 – 2
    • ลักษณะฝักเล็ก หวานกรอบดี เป็นที่ต้องการของตลาด
    • เก็บฝักสดได้เร็วมากกว่าพันธุ์อื่นเกือบ 1 เดือน
    • ความสูงของต้น 120 – 190 เซนติเมตร

          จำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกประมาณ 5 – 7 กก. หรือ 6 – 7 ลิตรต่อไร่ ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก ควรคลุกยากันรา 1 กรัมต่อเมล็ด 1 กก. เพราะเชื่อราที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์สามารถที่จะแพร่ขยายทางเมล็ดพันธุ์ได้

การเตรียมดินปลูก

  • ถั่วลันเตาชอบดินที่มี pH 5.5 – 6.5 ไม่ชอบดินกรด
  • ชอบดินที่มีลักษณะร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี
  • การเตรียมดินต้องไถลึก 20 – 25 เซนติเมต เพราะถั่วลันเตามีรากลึกปานกลาง
  • ตากดินทิ้งไว้ 5 – 7 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จากนั้นยกแปลงกว้าง 60 เซนติเมตร
    ร่องน้ำหรือทางเดินระหว่างแปลงกว้าง 40 เซนติเมตร
    หากเป็นถั่วลันเตาฝักใหญ่ แปลงควรกว้าง 80 เซนติเมตร
    ก่อนปลูกควรฉีดพ่นสารคลุมหญ้าเสียก่อน

วิธีปลูก

  • นำเมล็ดพันธุ์หยอดหลุมละ 4 – 5 เมล็ด ลึก 2 เซนติเมตร กลบดิน คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม
  • ระยะปลูกที่เหมาะสมและเป็นผลดี คือ ระหว่างหลุม 30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 70 เซนติเมตร
  • นิยมปลูกทั้งแถวเดี่ยวและแบบแถวคู่
    • แถวเดี่ยวเหมาะสำหรับที่ราบภูเขาซึ่งมีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ
    • แถวคู่เหมาะกับที่ราบสม่ำเสมอ โดยจะเว้นร่องน้ำหรือทางเดินไว้ 50 เซนติเมตร
  • ฤดูปลูกที่เหมาะคือ เดือนตุลาคม ในพื้นที่มีน้ำพอเพียงหรือมีระบบชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดปี
  • ถั่วลันเตาชอบอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิ 15 – 20 องศาเซลเซียสจะให้ผลผลิตดีที่สุด
    แต่ถ้าปลูกในช่วงอื่นจะทำให้ออกดอกเร็ว ต้นจะเตี้ยลง การติดฝักก็น้อยลงด้วย
  • เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริง 2 ใบ หรือสูงประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2 ต้น
    ประมาณ 10 – 15 วัน ก็จะเริ่มมีมือเกาะ ควรทำค้างให้แก่ต้นถัวโดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้รวกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ปักไม้ค้างตั้งฉากระยะห่างกัน 1.5 เมตร สูง 2 – 2.5 เมตร ใช้ไม้ไผ่ขนาดไม่เกิน 1 นิ้ว หลักด้านบนสูงจากพื้น 2 เมตร นำเชือกกล้วยหรือเปลทอกไม้บางๆ ผูกคั่นเป็นช่องๆ ระยะห่างกัน 50 เซนติเมตร เพื่อให้มือเกาะถั่วยึดต้นถั่วไว้มิให้ล้ม จะทำให้การออกฝึกสม่ำเสมอและเก็บเกี่ยวได้สะดวก

การให้น้ำ

          ถั่วลันเตาต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่วันปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยว ถ้าขาดน้ำจะทำให้ฝักไม่สมบูรณ์ เมล็ดไม่สม่ำเสมอ การให้น้ำแบบปล่อยเข้าร่องระหว่างแปลงจะดีที่สุด จะช่วยป้องกันการเกิดโรคทางใบได้ ช่วงที่ต้องการน้ำคือ ขณะออกดอกและติดฝัก ก่อนออกดอกถ้าฝนไม่ตกควรให้น้ำทุกวัน

การใส่ปุ๋ย

  • เริ่มตั้งแต่ปุ๋ยรองพื้น ไถดะแล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กก.ต่อไร่ รองพื้นแล้วทำการไถพรวน
  • หลังถอนแยก ใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกัน 30 กก.ต่อไร่ ก่อนออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 0-46-0 จำนวน 20 กก.ต่อไร่

การเก็บเกี่ยว

  • ฝักถั่วลันเตาจะเริ่มแก่และแห้งเมื่ออายุได้ 120 – 135 วัน การเก็บเกี่ยวควรเก็บเมื่อฝักแห้งแล้ว ทยอยเก็บ 2 – 3 ครั้ง หรือจะเก็บครั้งเดียว ถอนต้นแห้งทั้งต้นก็ได้ นำมาตากบนลานตากที่มีผ้าพลาสติกรองพื้น หมั่นเกลี่ยฝักบ่อยๆ ให้แห้งสม่ำเสมอทั่วกัน อย่าให้ถูกฝนหรือน้ำค้างจะทำให้แมลงเข้าทำลายเมล็ดได้
  • หลังจากนั้นนำไปนวด คอยระวังอย่าให้เครื่องนวดหมุนเร็วเกินไป หลังนวดจึงทำความสะอาดเอาสิ่งเจือปนออก นำไปตากแดดเพื่อลดความชื้นในเมล็ดอีกครั้งหนึ่งให้มีความชื้นไม่เกิน 11 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้เมล็ดประมาณ 200 กก.

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “ถั่วลันเตา” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ 

Top