การปลูกถั่วแขกพุ่ม

ถั่วแขกพุ่ม

ภาษาอังกฤษ
ชื่อวิทยาศาสตร์ 

Snap bean, French bean
Phaseolus vulgaris 

          ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือฝักอ่อน นำไปต้ม ผัด นึ่งกับพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือนำผักสดไปแช่แข็งซึ่งเป็นวิธีการเก็บรักษาฝักอ่อนไว้ได้นานเป็นปี หรือ 2 – 3 ปีโดยคุณภาพยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ฝักสดที่แช่แข็งจะต้องนำไปเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิต่ำที่จุดเยือกแข็งอุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส คือต้องเก็บไว้ในตู้แช่แข็งตลอด เวลาจนกว่าจะนำมาประกอบอาหาร

ลักษณะทั่วไป

          ถั่วแขกพุ่มเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นสูงประมาณ 30 – 45 เซนติเมตร มีกิ่งก้านสาขาแตกออกหลายกิ่ง มีพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีม่วง เป็นพืชล้มลุกมีอายุตั้งแต่หยอดเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยวผักสดประมาณ 45 – 70 วัน แล้วแต่พันธุ์ ช่วงการเก็บฝักสดนานประมาณ 10 – 15 วัน โดยทำการเก็บเกี่ยวผักสดที่ยังอ่อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางฝึก 6 – 6.5 มิลลิเมตรทุกๆ วัน หรือมากกว่า 6.5 มิลลิเมตร แต่ไม่ควรเกิน 9 มิลลิเมตร แล้วแต่ความต้องการของตลาด
          ต้องการอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 16 – 21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดที่ถั่วแขกเจริญได้ดีคือ 26.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดคือ 10 องศาเซลเซียส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความเป็นกรดด่าง 5.5 – 6.8

ฤดูปลูกที่เหมาะสม

  • ฤดูปลูกที่เหมาะสมคือช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ อากาศเย็นและไม่มีฝนตก
  • เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
    อย่างช้าที่สุดควรปลูกไม่เกินสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคมสำหรับภาคกลางของประเทศ

พันธุ์ปลูก

  • ถั่วแขกพันธุ์พื้นเมืองของไทย เมล็ดสีดำ ลำต้นเลื่อย ดอกสีม่วง ฝักแบน ต้องขึ้นค้าง ปลูกมากที่เพชรบูรณ์ ซึ่งตลาดต่างประเทศไม่ต้องการพันธุ์นี้ เนื่องจากฝักเหนียว
  • พันธุ์ถั่วแขกพุ่มที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ได้แก่ บุซบลูเลค 274, สไตรค์ (strike), สมิโล (smilo)
  • พันธุ์ถั่วแขกพุ่มดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องสั่งเมล็ดพันธุ์มาจากต่างประเทศ คืออาจจะสั่งจากยุโรปหรืออเมริกา ยังไม่มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วแขกพุ่มเป็นการค้าในประเทศไทย ถั่วแขกพุ่มที่ปลูกเพื่อรับประทานผักสดหรือผักนำไปแช่แข็งนั้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะทดสอบหาพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อปลูกเป็นการค้า

          การเลือกพันธุ์ปลูกที่เหมาะสมต้องศึกษาเรื่องตลาดให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า ผู้ซื้อต้องการพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ ผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปต้องการถั่วแขกเพื่อรับประทานฝักสด หรือเพื่อนำไปแช่แข็ง ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันนี้จะใช้พันธุ์ถั่วแขกพุ่มต่างกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องถามลูกค้าว่าต้องการพันธุ์อะไร จะหาพันธุ์ที่ลูกค้าต้องการได้จากที่ไหน ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ต้องสั่งจากต่างประเทศ จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน จึงจะได้รับเมล็ดซึ่งขนส่งโดยเรือ แต่ถ้าขนส่งทางเครื่องบินใช้เวลาเตรียมการประมาณ 1 เดือนก็พอ
          เมล็ดพันธุ์ปลูกที่ดีมีลักษณะอวบและเต่ง ผิวไม่ย่น เมล็ดไม่ลีบบาง บริษัทจะใช้ยากันราคลุกเมล็ด ซึ่งจะมีสีชมพู จากมาตรฐานสากลเมล็ดพันธุ์ถั่วแขกพุ่มที่มีคุณภาพดีจะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และมีความชื้น 6 เปอร์เซ็นต์
          การปลูกถั่วแขกจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ เรื่องความงอกของเมล็ดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะเมล็ดพันธุ์มีราคาแพงมาก (ประมาณ 400 บาท/กก.) เนื่องจากต้องสั่งจากต่างประเทศและเสียภาษี 40 เปอร์เซ็นต์

การเตรียมแปลงปลูก

  • ไถพรวน 1 ครั้ง ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ยกแปลงกว้าง 1.2 เมตร (รวมร่องน้ำ) ปรับสันแปลงให้กว้าง 80 เซนติเมตร
  • เปิดร่องหยอดเมล็ดห่างจากขอบแปลงเข้ามาข้างละ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 หน้าจอบ
    รองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 13-13-2 อัตรา 24 กก.ต่อไร่ และ 15 กก.ต่อไร่ตามลำดับใส่ปุ๋ยคอก 1 ตันต่อไร่ แล้วกลบดินตาม

วิธีการปลูก

          ปลูกโดยใช้เมล็ดหยอดลงในหลุมที่เตรียมไว้โดยตรง (ไม่ต้องมีการเพาะกล้า) อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 6 – 13 กิโลกรัมต่อไร่แล้วแต่พันธุ์ การเตรียมแปลงปลูกต้องคำนึงถึงระบบการให้น้ำควบคู่ไปด้วย
          การหยอดเมล็ด ใช้มือหยอดเมล็ดหลุมละเมล็ด ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ให้ห่างกัน 6 – 7 เซนติเมตร แล้วตามด้วยฟูราดาน ใช้ปุ๋ยหมักหว่านกลบเมล็ด หรืออาจใช้แกลบแทนปุ๋ยหมักก็ได้ การปลูกจะปลูกแบบแถวคู่ ระยะระหว่างแถวห่างกัน 60 เซนติเมตร

  1. ปลูกแบบแถวคู่ ให้น้ำแบบร่อง ร่องกว้าง 1.5 เมตร รวมทางเดินและร่องน้ำ ยกร่องสูง 15 – 20 เซนติเมตร ปรับผิวดินให้เรียบ ระยะปลูกระหว่างแถวห่างกัน 60 – 75 เซนติเมตร หยอดเมล็ดเป็นแนวตามความยาวของร่อง ขีดร่องตื้นๆ 1.5 – 2 เซนติเมตร รองที่จะโรยเมล็ดนี้ห่างจากขอบแปลงประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 6 – 10 เซนติเมตร การปลูกแบบนี้ใช้แทรกเตอร์เตรียมดินและยกร่องได้ แต่การใส่ปุ๋ยรองพื้นต้องใช้แรงงานคน
  2. การปลูกแบบแถวเดี่ยว ให้น้ำแบบร่อง ยกร่องกว้าง 75 เซนติเมตรรวมทางเดินและร่องน้ำด้วย หยอดเมล็ดบนสันร่อง ยกร่องโดยแทรกเตอร์ ใส่ปุ๋ยรองพื้นในร่องแล้วกลบปุ๋ย ระยะปลูกระหว่างต้น 6 – 10 เซนติเมตร
  3. การปลูกในร่อง ให้น้ำแบบตักรด หรือใช้เรือรดน้ำแบบดำเนินสะดวก ปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ระหว่างต้น 6 – 10 เซนติเมตร

การดูแลรักษา

          การใส่ปุ๋ย ถั่วแขกพุ่มจะเริ่มออกดอกหลังจากหยอดเมล็ดแล้ว 25 – 45 วัน แล้วแต่พันธุ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยรองพื้นที่มีธาตุอาหารหลักครบทั้งสามชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม แต่ปุ๋ยตัวกลางคือฟอสฟอรัสควรมีอัตราสูงกว่าอีกสองชนิดทั้งนี้เพื่อให้มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างดอกพอเพียง
          ในภาคกลางดินร่วนปนทรายมักจะมีความสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำควรใส่ปุ๋ยรองพื้น ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 25 – 40 กิโลกรัมต่อไร่ และจำเป็นต้องผสมปุ๋ยเดี่ยวสูตร 0-46-0 เป็นปุ๋ยรองพื้นอัตรา 10 – 12 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ถั่วแขกออกดอกดีขึ้น ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าสองครั้ง ครั้งแรกใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตสูตร 21-0-0 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าจะให้ดีควร ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปของไนเตรทจะเหมาะสมกว่า เช่น แคลเซียมไนเตรท สูตร 15-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่หนึ่งให้ใส่โรยรอบโคนต้นหลังจากหยอดเมล็ดแล้ว 10 – 12 วัน ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่สองใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 20 – 30 กิโลกรัมต่อไร่ อัตราปุ๋ยที่แนะนำนี้ใช้สำหรับดินในภาคกลางซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ

  • ระยะเวลาการให้ปุ๋ย ครั้งแรก 15 วันหลังเมล็ดงอก สูตร 46-0-0 อัตรา 7 กก.ต่อไร่ หรือ 13-13-21 อัตรา 15 กก.ต่อไร่

  • ครั้งที่ 2 – 6 ระยะออกดอก 15-0-0 อัตรา 2 กก.ต่อไร่ต่อครั้ง ทุก 2 วันครั้ง

  • ปุ๋ยอินทรีย์นั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกถั่วแขก ควรใส่ 1 ตันต่อไร่ ใส่เป็นปุ๋ยรองพื้น ใส่โดยเปิดร่องตามแนวความยาวของแปลงปลูก เปิดร่องลึกประมาณ 15 เซนติเมตร อย่าเปิดร่องตื้นเกินไป ปุ๋ยรองพื้นที่ใส่มีความเข้มข้นจะเป็นอันตรายต่อเมล็ดทำให้เมล็ดเน่า

  • เมื่อเปิดร่องเรียบร้อยดีแล้วให้หว่านปุ๋ยเป็นแนวตามความยาวของร่อง ต่อจากนั้นจึงใส่ปุ๋ยคอกทับลงบนปุ๋ยวิทยาศาสตร์แล้วกลบร่องด้วยดิน ปรับผิวแปลงให้เรียบแล้วจึงทำร่องตื้นๆ (1.5 – 2 เซนติเมตร) ใช้ไม้ขีดตามแนวยาวซึ่งใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมไว้แล้ว จงหยอดเมล็ด อย่าให้เมล็ดสัมผัสกับปุ๋ยรองพื้น

  • ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่หนึ่งให้ใช้ปุ๋ยละลายน้ำรดโคนต้น ระวังอย่าให้ถูกใบ

การให้น้ำ

          การให้น้ำแบบร่องให้น้ำประมาณ 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าให้น้ำแบบสปริงเกอร์ อาจจะต้องให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ให้แบบใช้เรือพ่นน้ำเป็นฝอยวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ

การเก็บเกี่ยว

          การปลูกถั่วแขกพุ่มนั้น การเก็บเกี่ยวถูกระยะให้ฝักมีขนาดตามที่ตลาดต้องการมีความสำคัญมาก เกษตรกรต้องทำด้วยความประณีต และใช้แรงงานเก็บเกี่ยวมาก ต้องเก็บเกี่ยวต่อเนื่องกันทุกๆ วัน ตลอดอายุการเก็บเกี่ยวนานประมาณ 10 – 15 วัน ผลผลิต 800 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “ถั่วแขกพุ่ม” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ

Top