การปลูกมะเขือเทศ

          มะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่ง ซึ่งนิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามินเอและวิตามินชี
          นอกจากมีการปลูกมะเขือเทศเพื่อส่งขายบริโภคสดแล้ว ในปัจจุบันได้มีการผลิตสำหรับส่งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปในแบบต่างๆ เช่น น้ำมะเขือเทศ และซอสมะเขือเทศ ดังนั้นความต้องการของตลาดมะเขือเทศจึงมีอยู่ตลอดทั้งปี แต่ในบางฤดูมะเขือเทศมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากมะเขือเทศจะเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงในสภาพอากาศเย็น ฤดูหนาวมะเขือเทศจะติดผลดี ในฤดูหนาวโรคแมลงรบกวนน้อยกว่าฤดูอื่น ผลผลิตที่ได้รับจะมีปริมาณมากและคุณภาพดี จึงเหมาะที่จะปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงาน    

ลักษณะทั่วไป

          เดิมมะเขือเทศเป็นพืชผักพื้นเมืองในอเมริกากลางและใต้ ก่อนแพร่เข้าไปในยุโรปและเอเชีย มีผู้นำเข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อ 60 ปีมาแล้ว มะเขือเทศเป็นพืชฤดูเดียว ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicom esculenum ลำต้นอ่อนกลม มีขน เมื่อโตขึ้นเป็นเหลี่ยมแข็ง กิ่งก้านแผ่กว้าง ทรงผลกลมถึงกลมรี ขนาดและสีไม่แน่นอน มีตั้งแต่เหลือง แดง ส้ม และน้ำตาลอ่อน

          ส่วนฤดูร้อนและฤดูฝนนั้นมะเขือเทศจะเจริญเติบโตไม่ดีผลผลิตต่ำ เนื่องจากมีโรคแมลงรบกวนมาก อย่างไรก็ตาม ในฤดูร้อนและฤดูฝนนี้มะเขือเทศในตลาดจะมีราคาสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ดังนั้น หากประสงค์ที่จะปลูกช่วงนอกฤดูดังกล่าว ควรเพาะเมล็ดพันธุ์ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และจะต้องเลือกพันธุ์ปลูกประเภททนร้อนและทนฝน ซึ่งพันประเภทนี้จะต้านทานโรค มีการติดผลดีแต่ควรเลือกพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดีและมีการเอาใจใส่ดูแลรักษาเป็นพิเศษด้วย จึงจะทำให้การปลูกมะเขือเทศได้ผลดี

พันธุ์

มะเขือเทศมีการสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

แบ่งตามลักษณะทรงต้นได้ 2 ชนิด
  1. พันธุ์ที่เป็นพุ่มยอดไม่เจริญยืดยาวออกไปเรื่อยๆ จะมีการออกดอกที่ปลายยอด ทำให้ยอดไม่ยืดยาวเจริญต่อไป ยอดแต่ละยอดส่วนใหญ่มักออกดอกในเวลาใกล้เคียงกัน เวลาเก็บเกี่ยวจึงสะดวก การเก็บเกี่ยวน้อยครั้ง เช่น Roma, Fire ball
  2. พันธุ์ที่มีลักษณะทรงสูง ไม่มีดอกที่ปลายยอด ต้นจึงยืดสูงออกไปเรื่อยๆ ดอกทะยอยออกตามข้อ การปลูกพันธุ์นี้จึงนิยมทำค้าง เพื่อช่วยให้คุณภาพของผลดี ไม่เปื้อนดิน หรือถูกทำลายจากความชิ้นและโรคแมลงในดิน เช่น พันธุ์ ponderosa, สีดา (Porter)
แบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ มี 2 ชนิด คือ
  1. พันธุ์ใช้รับประทานสด (Table Tomato) ผลมักมีรูปร่างทรงกลม กลมรี ผิวเปลือกไม่หนา เนื้อนุ่ม เช่น ฟลอราเดล ส่วนมากมีลักษณะผลใหญ่ เนื้อมาก
  2. พันธุ์ส่งโรงงาน (processing Tomato) มีทั้งผลเล็กผลกลาง และผลใหญ่ มีเนื้อมาก เนื้อสีแดงเข้ม ผลหลุดจากขั้วง่าย (ขั้วไม่ติดผล) และสุกพร้อมกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้จำนวนครั้งในการเก็บเกี่ยวน้อยลง เป็นการทุ่นค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์ Roma VE, VF134

          มะเขือเทศทุกพันธุ์สามารถปลูกได้ดีในฤดูหนาวและให้ผลผลิตสูง มีโรคแมลงรบกวนน้อย ราคาขายในฤดูนี้จึงมักต่ำ เริ่มเพาะกล้าตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม สำหรับในฤดูร้อนหรือฤดูฝนจะมีปัญหาเรื่องโรคแมลงและการติดผลน้อย ราคาในฤดูนี้จะสูงเพาะกล้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

การเพาะกล้า

  • การปลูกมะเขือเทศนั้นส่วนมากจะเพาะกล้าก่อนปลูก เนื่องจากเมล็ดมีราคาแพง และยังสามารถคัดต้นที่เป็นโรค ไม่แข็งแรง หรือไม่สมบูรณ์ออกเสียก่อน
  • ดินที่จะใช้เพาะควรเป็นดินละเอียดและฆ่าเชื้อโรคแล้ว โดยการอบหรือตากแดดมานานพอควร นำมาผสมกับทรายในอัตรา 1:1 และผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเทศบาล 1-1.5 ส่วน ถ้ามีแกลบเผาอาจจะเพิ่มได้อีก 1/2 ส่วนปุ๋ยคอกที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยที่มีการสลายตัวดีแล้ว
การเตรียมแปลงเพาะมีหลายวิธี แล้วแต่ความสะดวกและจำนวนมากน้อยของต้นกล้าที่ต้องการ ดังนี้
    1. กระบะเพาะ ใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าสำหรับปลูกไม่มากนัก วิธีนี้สมารถควบคุมโรคต่างๆ ได้ดี เนื่องจากใช้ดินจำนวนน้อย จึงสามารถนำดินไปอบไอน้ำหรือฆ่าเชื้อด้วยสารฆ่าเชื้อโรคในดิน เช่น Methyl Bromide ในอัตรา 1 ส่วนต่อน้ำ 2,000 ส่วน รดดินที่จะเพาะเมล็ด แล้วทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ก่อนเพาะ
      • ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ควรตากดินที่จะใช้เพาะให้ดีก่อนสัก 3-4 สัปดาห์ หรือเลือกดินที่เห็นว่าปลอดภัยจากโรคมาเป็นส่วนผสมโดยจากการสังเกตว่าดินที่นำมาปลูกพืชแล้วไม่เคยเป็นโรคมาก่อนหรือเป็นดินที่ไม่เคยปลูกมาก่อนก็ได้ กระบะที่ใช้ควรมีขนาด 35-40 เซนติเมตร x50-60 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 7-10 เซนติเมตร การใช้กระบะเพาะนั้นเมื่อกล้างอกแล้วควรเก็บกะบะเข้าร่มหลังจาก 4 โมงเช้า และนำออกมากลางแจ้งหลัง 4 โมงเย็น พอกล้าแข็งแรง จึงทิ้งไว้กลางแจ้งตลอดไป
    1. แปลงเพาะ ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าเป็นจำนวนมาก ใช้แปลงเพาะบนพื้นดิน โดยยกเป็นร่องคล้ายแปลงผักขนาด 1X5-10 ตารางเมตร ผสมด้วยปุ๋ยคอกและทรายตามอัตราส่วนดังกล่าวมาแล้ว และควรมี ตาข่ายมุ้งลวดแบบพลาสติก หรือผ้าดิบสำหรับกันฝนและลดความเข้มข้นของแสงในขณะแดดจัด ถ้าจะให้ผลดีควรเปิดให้รับแสงแดดถึง 3 โมงเช้า และเปิดอีกครั้งเมื่อ 4 โมงเย็น ในกรณีที่หาวัสดุหรือผ้าคลุมแปลงไม่ได้ และไม่ใช่ฤดูฝน หลังจากโรยเมล็ดและกลบดินเรียบร้อยแล้ว อาจจะใช้ฟางข้าวใหม่ซึ่งไม่เคยใช้ทำอะไรมาก่อนคลุมบางๆ เมื่อเมล็ดงอกแล้วค่อยๆ ดึงเอาฟางออกบ้าง เพื่อให้ต้นกล้าโผล่พ้นฟางได้ง่ายและต้นกล้าจะแข็งแรง
      • ใช้ไม้ทาบเป็นร่องเล็กๆ โรยเมล็ดเป็นแถว ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 5-7 เซนติเมตร กลบเมล็ดด้วยแกลบหรือทรายบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงผสมน้ำรดอีกที่หนึ่งเพื่อป้องกันมดคาบเมล็ดไปกินเมื่อเมล็ดเริ่มงอกให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดชื้อราเช่น แคปแทน หรือแมนเซทดี อัตรา 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ รด 1 ครั้ง
  • เมื่อกล้าอายุได้ 15 วัน หรือมีใบจริง 2 ใบ ให้ย้ายกล้าลงใส่ถุงพลาสติกขนาด 4x6 นิ้ว ซึ่งบรรจุดินผสมอยู่ จนกระทั่งกล้าสูงประมาณ 30 เชนติเมตร หรือมีอายุ 30-40 วัน จึงทำการย้ายกล้าลงแปลงปลูก โดยใช้มีดกรีดถุงพลาสติกให้ขาดเพื่อไม่ให้รากกระทบกระเทือน
  • ก่อนที่จะย้าย 2-3 วันอาจใช้โปแตสเซียมคลอไรด์อัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ รดเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง แต่ก่อนย้ายกล้าควรงดการให้น้ำ 1 วัน เพื่อให้ดินในถุงจับตัวแน่นทำให้สะดวกต่อการย้ายกล้า    

              อย่างไรก็ตาม เมื่อกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ หากไม่ย้ายกล้าลงถุงพลาสติก ก็ควรชำต้นกล้าให้เป็นแถวในแปลงชำ โดยเตรียมดินให้ร่วนซุย ด้วยการใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 5-7 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร ขนาดแปลงชำกว้าง 1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาด พื้นที่และปริมาณของต้นกล้า ระยะปลูกระหว่างแถว 10 เชนติเมตร และเมื่อกล้าสูงประมาณ 30 เชนติเมตร ก็ย้ายลงแปลงปลูกจริง โดยก่อนย้ายจะต้องรดน้ำในแปลงชำให้ชุ่มเสียก่อน เพื่อความสะดวกในการถอนต้นกล้า รากต้นกล้าจะไม่ขาดหรือถูกกระทบกระเทือนมากนัก

    การเตรียมดินและแปลงปลูก

    • เนื่องจากมะเขือเทศเป็นพืชที่มีโรคต่างๆ รบกวนมาก จึงต้องพิถีพิถันในการเตรียมดินและการกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในการปลูก เพราะนอกจากจะแย่งอาหาร น้ำ และแสงแดดแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลง นำโรคระบาดมาสู่มะเขือเทศ การเตรียมดินที่ดีจะป้องกันการงอกของวัชพืชไปได้นาน
    • มะเขือเทศต้องการดินที่ระบายน้ำดี จึงควรเตรียมดินให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ใช้เครื่องทุนแรงหรือรถไถ 2-3 ครั้ง โดยไถกลบดินไปมาและตากดินให้แห้ง 3-4 สัปดาห์ แล้วย่อยดินให้ละเอียดพอควร อย่าให้ละเอียดมาก เพราะมะเขือเทศชอบดินก้อนโตพอประมาณ ซึ่งมีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ถ้าดินมี pH ต่ำหรือสูงเกินไปควรทำการปรับเสียก่อน ส่วนมากดินจะมี pH ต่ำ ให้ใช้ปูนขาวหว่านและคลุกเคล้ากับดิน อาจจะหว่านก่อนการเตรียมดินครั้งสุดท้าย การใส่ปูนขาวควรจะทำก่อนปลูก 1-2 สัปดาห์

      การปลูก

      • แปลงปลูกควรไถพรวนและปรับระดับดินให้เรียบสม่ำเสมอกัน แล้วยกแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 100 เซนติเมตร และเพื่อป้องกันวัชพืชขึ้นรวมทั้งรักษาความชื้นในแปลง ควรคลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติกทึบแสงและเจาะรูเฉพาะหลุมปลูกให้ปลูกเป็นแถวคู่ระยะระหว่างแถว 70 เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เชนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหนึ่งกระป๋องนมต่อหลุม ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัมต่อหลุม และใช้สารเคมีฟูราดานรองกันหลุมอัตรา 1 กรัมต่อต้น คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงย้ายกล้าลงหลุม
      • ปลูกหลุมละ 1-2 ต้น กลบดินให้เสมอระดับผิวดินอย่าให้เป็นแอ่งหรือเป็นหลุมในช่วงฤดูฝน เพราะจะทำให้น้ำขังและต้นกล้าเน่าตายได้ แต่ถ้าปลูกในฤดูหนาวหรือฤดูแล้งควรจะกลบดินให้ต่ำกว่าระดับหลุมเล็กน้อย
      • สำหรับการย้ายกล้าลงแปลงปลูกนี้ต้องเลือกต้นกล้าที่มีลักษณะดี คือ มีต้นแข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงรบกวน ถ้าเป็นการย้ายกล้าจากแปลงเพาะหรือแปลงชำมาลงปลูกโดยตรง ควรย้ายปลูกในเวลาที่อากาศไม่ร้อน คือ ในตอนบ่ายหรือเย็น เมื่อย้ายเสร็จแล้วให้รดน้ำตามทันที จะทำให้กล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้นและเปอร์เซ็นต์การตายน้อยลง แต่ถ้าเป็นการย้ายกล้าที่ชำในถุงพลาสติกสามารถย้ายลงแปลงได้ทุกเวลา ต้นกล้าจะตั้งตัวได้เร็วและรอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
      • หลังจากย้ายกล้าแล้วรดน้ำกล้าให้ชุ่มทุกเช้าเย็น เมื่อกล้าตั้งตัวดีแล้วจึงรดน้ำเพียงวันละครั้ง ในบางแห่งอาจจะให้น้ำแบบเข้าตามร่องแปลงจนชุ่มแล้วปล่อยน้ำออก วิธีนี้สามารถทำให้มะเขือเทศได้รับน้ำอย่างเต็มที่และอยู่ได้ 7-10 วัน

        การดูแลรักษา

        • การปลูกมะเขือเทศนั้น ถ้าทำการเตรียมดินและดูแลอย่างดีโดยการใส่ปุ๋ย รดน้ำ มะเขือเทศจะแข็งแรงดี ให้ผลผลิตสูง
        • มะเขือเทศเป็นพืชที่มีโรคหลายอย่าง การปลูกจึงต้องศึกษาดูว่าแหล่งปลูกนั้นมีโรคอะไรระบาดอยู่เป็นประจำและระบาดฤดูไหน เพื่อจะได้เตรียมหาวิธีป้องกันไว้ก่อน
        • แมลงที่คอยดูดน้ำเลี้ยงทำให้ต้นมะเขือเทศชะงักการเจริญเติบโตและพลอยให้โรคอื่นแทรกซ้อน มี เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยกระโดด หนอนเจาะผล

          การใส่ปุ๋ย

          • ควรใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเทศบาลรองพื้นอัตรา 4-5 ต้นต่อไร่
            • เพราะปุ๋ยเหล่านี้จะทำให้การอุ้มน้ำและการระบายน้ำของดินดีขึ้น มักจะใส่ตอนเตรียมดินครั้งสุดท้ายและรองกันหลุม
            • ปุ๋ยเคมีใช้สำหรับ
              • ดินเหนียวควรมีไนโตรเจนและโปแตสเซี่ยมเท่ากัน ส่วนฟอสฟอรัสให้สูงไว้
                เช่น สูตร 12-24-12 หรือ 15-15-15
              • ดินร่วนควรให้ปุ๋ยที่มีโปแตสเซี่ยมสูงขึ้นแต่ไม่สูงกว่าฟอสฟอรัส
                เช่น สูตร 10-20-15
              • ดินทราย เป็นดินที่ไม่ค่อยมีโปแตสเซี่ยม จึงควรให้โปแตสเซี่ยมสูงกว่าตัวอื่นๆ
                เช่น สูตร 12-12-17 หรือ 15-20-20          
          • มะเขือเทศจะใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากขึ้นถ้าหากอุณหภูมิของอากาศสูง จึงควรเลือกให้สูตรปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงในการปลูกนอกฤดู
          • การใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่เป็นระยะๆ
            • ครั้งแรกใส่ก่อนปลูกโดยคลุกกับดินตอนตรียมหลุมปลูก
            • ครั้งที่ 2 หลังจากต้นมะเขือเทศตั้งตัวแล้ว 10-15 วันหลังจากปลูก
            • ครั้งที่ 3 ใส่หลังจากครั้ง 2 ประมาณ 20 วัน
          • ขณะต้นมะเขือเทศเริ่มตั้งตัวได้แล้วควรให้ปุ๋ยทางใบช่วย
            • จะทำให้มะเขือเทศเจริญเติบโตแข็งแรงดีและให้ผลผลิตสูงมาก
            • ถ้าให้ปุ๋ยช้าเกินไปหรือมะเขือเทศแสดงอาการอ่อนแอโอกาสเป็นโรคจะมีมากขึ้น
              ฉะนั้นต้องพยายามทะนุบำรุงให้ต้นมะเขือเทศโตเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ใช่ให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปจนเฝือใบ

          การพรวนดิน

          • หลังจากย้ายกล้าปลูกลงแปลงได้ประมาณ 7-14 วัน กล้าจะเจริญแข็งแรง ก็หว่านปุ๋ยครั้งที่ 2 และพรวนดินกลบโดนกำจัดวัชพืชไปในตัว
          • ควรกลบโคนให้สูง เพราะรากใหม่ของมะเขือเทศจะเกิดขึ้นมากตามบริเวณที่กลบดินนี้ ทำให้มะเขือเทศมีรากหาอาหารมากขึ้น ต้นจะสมบูรณ์เจริญเติบโตเร็ว
          • มะเขือเทศต้องการดินร่วนซุย การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี

          การตัดแต่งกิ่ง

          • การปักหลักหรือทำค้างควรเริ่มทำหลังจากพรวนดินครั้งนี้เสร็จแล้ว
          • การหว่านปุ๋ยครั้งที่ 3 จะอยู่ในขณะที่ต้นมะเขือเทศกำลังออกดอก
          • ไม่ควรพรวนดินใกล้ๆ ราก เพราะจะทำให้กระทบกระเทือนทำให้ชะงักการเจริญเติบโตได้

          ถ้าเป็นการปลูกพันธุ์ที่ใช้รับประทานสด ซึ่งส่วนมากจะเป็นพันธุ์ที่ทรงพุ่มสูง มักตัดแต่งกิ่งเหลือไว้เพียง 1-2 กิ่ง ใช้ไม้หลักปักหรือทำราวมัดกิ่งกับราว ผลจะออกทยอยตามกิ่งที่มีขึ้นไปเรื่อย ผลที่ได้จะมีลักษณะผลโตสมบูรณ์ ถ้าหากมีผลมากเกินไปควรปลิดผลออกเสียบ้าง เอาไว้เพียงต้นละประมาณ 15-20 ผล ถ้าหากไม่ตัดแต่งกิ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องโรคมากขึ้น และผลของมะเขือเทศที่ได้จะมีขนาดไม่สม่ำเสมอ สำหรับการปลูก เพื่อส่งโรงงานนั้นมักจะไม่มีการตัดแต่งกิ่งหรือใช้ไม้ปักค้ำต้น เนื่องจากพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ทรงพุ่มเตี้ย

          การปักค้าง

          • พันธุ์มะเขือเทศที่ทอดยอดหรือพันธุ์เลื้อยจำเป็นจะต้องมีการปักค้าง โดยใช้ไม้หลักปักค้างก่อนออกดอก
          • ใช้เชือกผูกกับลำต้นให้ไขว้กันเป็นเลข 8 และผูกเงื่อนกระตุกกับค้าง เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี สะดวกต่อการดูแลรักษา
          • สามารถฉีดสารป้องกันกำจัดโรคแมลงได้อย่างทั่วถึง
          • ผลไม่สัมผัสดิน ทำให้ผลสะอาด สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

          การเก็บเกี่ยว

                    มะเขือเทศมีหลายพันธุ์ ฉะนั้นระยะเวลาการเริ่มเก็บเกี่ยวจะไม่พร้อมกัน ทั่วไปจะอยู่ในระหว่าง 75-90 วันนับจากวันเพาะเมล็ด

          • ถ้าเก็บส่งตลาดขายสำหรับรับประทานสดควรเก็บในระยะที่เริ่มสุกหรือห่าม มีสีเขียวผสมสีแดงบ้าง หรือเริ่มจะเข้าสู่การมีสี จะทำให้ทนทานต่อการขนส่ง ไม่ซ้ำง่ายและสามารถเก็บไว้ได้นาน
          • ถ้าต้องการผิวดีเก็บไว้ได้นานขึ้น เปอร์เซ็นต์การเน่าน้อยลง ก็ควรเช็ดผิวด้วยน้ำปูนใส เช็ดให้สะอาด ผึ่งลมไว้ในที่ร่มให้แห้ง
          • ส่วนการเก็บเกี่ยวผลมะเขือเทศที่ส่งโรงงานอุตสาหกรรมนั้นต้องเก็บในระยะผลสุกเป็นสีแดงหรือสีส้มทั้งผล (ขึ้นอยู่กับพันธุ์) และเก็บไม่ให้มีขั้วผลติดมากับผล หากผลไม่สุกแดงและมีขั้วผลติดมาด้วยโรงงานจะคัดทิ้ง เนื่องจากเมื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์แล้วจะทำให้คุณภาพและสีของผลิตภัณฑ์เสีย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ

                    นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกมะเขือเทศ” ถ้าสนใจเรื่อง “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

          ถ้าชอบชอบบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ 

          กดติดตามเรื่องราวการเกษตร “ภูมินิเวศเกษตร”
          ได้ที่เพจ นิทานบ้านไร่ bokujou ด้านล่างนี้

          Top