การปลูกแตงกวา

          แตงกวาเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับแตงโม ฟักทอง บวบ มะระ น้ำเต้า เป็นผักชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทุกเชื้อชาติ รู้จักกันทั่วโลก  เป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 30-45 วันหลังปลูก เมื่อเปรียบเทียบรายได้จากการปลูกแตงกวากับพืชอื่นๆ หลายชนิดแล้ว แตกวาเป็นพืชหนึ่งที่สามารถทำรายได้ดีทีเดียว

ลักษณะทั่วไป

 ลำต้นเป็นเถาเลื้อย เป็นเหลี่ยม มีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป มีข้อยาว 10-20 เซนติเมตร มือเกาะเกิดออกมาตามข้อ ส่วนปลายของมือเกาะไม่มีการแตกแขนงเป็นหลายเส้น ก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร ใบหยาบมีขนใบ
ผลของแตงกวามีลักษณะกลมยาวทรงกระบอก ความยาวผลระหว่าง 5-40 เซนติเมตร มีไส้ภายในผล ในปัจจุบันพันธุ์การค้าในต่างประเทศมีการปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถติดผลได้โดยไม่ได้รับการผสมเกสร (parthenocarpic type) ภายในผลไม่มีไส้ เนื้อกรอบ และน้ำหนักต่อผลสูง นิยมทั้งบริโภคผลสด แปรรูป สีผลมีสีขาว เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้มดำ สีหนามสีขาว แดง น้ำตาล และดำ

พันธุ์

แตงกวาสามารถจำแนกได้ตามประโยชน์การใช้สอย ดังนี้
  1. พันธุ์รับประทานสด เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อบางและไส้ใหญ่ สีเปลือกเป็นสีเขียวอ่อน ผลมีน้ำมาก มีทั้งผลเล็กและผลใหญ่ เมื่อผลยังอ่อนอยู่จะมีหนามเต็มไปหมด แต่เมื่อโตเต็มที่หนามจะหลุดออกเอง พันธุ์รับประทานสดนี้ไม่เหมาะกับการนำไปดอง
แตงกวารับประทานสดแบ่งตามขนาดของผลได้เป็น

แตงผลยาว (long cucumber) รู้จักกันในชื่อของแตงร้าน ซึ่งมีความยาวผลอย่างน้อย 15 เซนติเมตร ความกว้างผลมากกว่า 25 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหนา ไส้แคบ พันธุ์ของไทยนั้นจะมีผลสีเขียวแก่ ตรงส่วนใกล้ขั้วผลประมาณหนึ่งในสี่ของผล ที่เหลือมีจุดประสีเขียว อ่อน หรือขาว และเส้นสีขาวเป็นแถบเล็กๆ ตลอดความยาวไปถึงปลายผล ส่วนพันธุ์ของต่างประเทศจะมีสีเขียวเข้มสม่ำเสมอทั้งผล

แตงผลสั้น (short cucumber) รู้จักกันในชื่อของแตงกวามีความยาวผล 8-12 เซนติเมตร ความกว้างผลมากกว่า 2.5 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะมีเนื้อน้อย ไส้กว้าง

  1. พันธุ์อุตสาหกรรม เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อหนา ไส้เล็ก บางพันธุ์ก็ไม่มีไส้เลย เปลือกสีเขียวขม เมื่อนำไปดองจะคงรูปร่างได้ดีไม่ค่อยเหี่ยวย่น แตงกวาพันธุ์นี้มักจะเป็นลูกผสม ผลมีรูปร่างผอมยาว ซึ่งแบ่งตามขนาดได้ 2 ชนิด คือ แตงผลยาวและแตงผลสั้น

แตงผลยาว เป็นแตงชนิดที่ใช้ทำแตงดองของญี่ปุ่นและจีน มีความยาวผล 20-30 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร เนื้อหนาไส้แคบ ผิวสีเขียวเข้มตลอดความยาวของผล มักใช้ดองโดยมีการใช้น้ำปรุงรสด้วยส่วนผสมของซีอิ้ว

แตงผลสั้น เป็นแตงชนิดที่ใช้ทำแตงดองของสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีความยาว 8-12 เซนติเมตร ผลกว้าง 1-5 เซนติเมตร มีเนื้อหนาและแน่น ไส้แคบ ผิวสีเขียวเข้มตลอดความยาวของผลใช้ดองทั้งผล ผ่าตามความยาวและหั่นเป็นชิ้นๆ ตามความต้องการดองโดยมีการใช้น้ำปรุงรสด้วยส่วนผสมของซีอิ้ว

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

          ปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่แตงกวาชอบดินร่วนทราย ดินมีความชื้นพอเหมาะ น้ำไม่ท่วมขังแฉะ อากาศค่อนข้างแห้ง แสงแดดเต็มที่ อุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ร้อนกว่านี้แตงกวาก็ทนได้ ประเทศไทยปลูกได้ตลอดปี นอกจากบางท้องที่ที่มีอากาศหนาวเย็นจัด ถ้าปลูกแตงกวาในที่เย็นจัดอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงจะไม่งอก แต่ยังไม่ตายทันทีจะพักตัวอยู่ในดินชั่วระยะเวลาหนึ่ง และจะกลับงอกได้ดีอีกถ้าอากาศอุ่นขึ้น
          แตงกวาเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ขาดน้ำไม่ได้ โครงสร้างของดินที่ปลูกแตงกวาควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ควรมีความเป็นกรดด่าง (pH) 5.5-6.5 ในสภาพดินที่เป็นดินทรายจัด หรือเหนียวจัด จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินก่อนการปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว

การเตรียมดินและแปลงปลูก

          ควรขุดไถดินให้ลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร เพราะแตงกวาเป็นพืชที่มีระบบรากลึกปานกลาง ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน เอาเศษวัชพืชออก ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว ประมาณ 2 ต้นต่อไร่ เพื่อช่วยปรับสภาพทางกายภาพของดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน จากนั้นก็พรวนย่อยผิวหน้าดินให้ขนาดก้อนเล็กลง แต่ไม่ควรละเอียดมากจนเกินไป ถ้าดินมีสภาพเป็นกรดดี ควรใส่ปูนเพื่อปรับสภาพพีเอชของดินให้พอเหมาะแก่การเจริญเติบโต
          เตรียมแปลงขนาดกว้าง 1-1.2 เมตร ความยาวตามลักษณะของพื้นที่ การเตรียมหลุมปลูกนั้น ควรกำหนดระยะระหว่างต้นประมาณ 60-80 เซนติเมตร ระหว่างแถว 1 เมตร สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นใช้สูตร 15-15-15 ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ในบางแหล่งอาจใช้พลาสติกคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดินป้องกันการงอกของวัชพืช และพลาสติกบางชนิดสามารถป้องกันแมลงทำลายแตงกวาได้

การเตรียมพันธุ์

ขั้นตอนการเตรียมพันธุ์นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการปลูกแตงกวา
ซึ่งพอแบ่งได้ดังนี้

  1. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แตงกวา ควรคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ เลือกซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ มีการบรรจุหีบห่อเมล็ดที่สามารถป้องกันความชื้นหรืออากาศจากภายนอกเข้าไปได้ เมล็ดแตงกวาควรมีการคลุกสารเคมีเพื่อป้องกันศัตรูพืชที่อาจติดมากับเมล็ด ก่อนใช้เมล็ดทุกครั้งควรทดสอบความงอกก่อน
  1. การเตรียมดินเพาะกล้า อัตราส่วนดิน: ปุ๋ยคอก 31 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ครึ่งกิโลกรัม คลุกให้เข้ากัน แล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด 6×10 เซนติเมตร เพื่อเตรียมสำหรับหยอดเมล็ดแตงกวาต่อไป
  2. การบ่มเมล็ด นำเมล็ดบรรจุถุงพลาสติกที่เจาะรูพรุน แช่ในสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เช่น แคปเทน ออโธ่ไซด์ ผสมอัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แช่เมล็ดนาน 30 นาที เพื่อทำลายเชื้อราที่ผิวเมล็ด จากนั้นนำมาแช่น้ำ 4 ชั่วโมง แล้วจึงบ่มในผ้าชุบน้ำหมาดๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น บ่มในสภาพอุณหภูมิห้องนาน 24 ชั่วโมง หลังจากรากงอกยาวครึ่งเซนติเมตร จึงนำไปเพาะต่อไป
  3. การหยอดเมล็ดลงถุง นำเมล็ดที่บ่มไว้หยอดลงถุงละ 1 เมล็ด แล้วใช้ดินผสมหยอดกลบบางประมาณ 1 เซนติเมตร

          หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ให้น้ำทันที โดยวิธีการฉีดพ่นให้เป็นฝอยละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปริมาณน้ำที่ให้นั้นไม่มากเกินไป ในช่วงฤดูร้อนควรจะให้วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้ตรวจดูความชื้นก่อนการให้น้ำทุกครั้ง ถุงเพาะกล้านี้ควรเก็บไว้ในที่แดดไม่จัดหรือมีการใช้วัสดุกันแสงไม่ให้มากระทบต้นกล้ามากเกินไป
          เมื่อแตงกวาเริ่มงอกให้หมั่นตรวจดูความผิดปกติของต้นกล้าเป็นระยะๆ หากมีการระบาดของแมลงหรือโรคพืชต้องรีบกำจัดโดยเร็ว เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 3-4 ใบ จะอยู่ในระยะพร้อมที่จะย้ายปลูก

การปลูก

วิธีการปลูกแตงกวานั้น ปลูกทั้งวิธีหยอดเมล็ดโดยตรง และเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายปลูก

การหยอดเมล็ดโดยตรงนั้นอาจจะมีความสะดวกในการปลูกแต่มีข้อเสีย คือ สิ้นเปลืองเมล็ด หากใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมซึ่งมีราคาแพงแล้วจะเกิดความสูญเปล่าและเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตรวมทั้งวิธีการหยอดเมล็ดนี้จำเป็นที่จะต้องดูแลระยะเริ่มงอกในพื้นที่กว้าง การใช้วิธีการเพาะกล้าก่อนจึงมีข้อดีหลายประการ เช่นประหยัดเมล็ดพันธุ์ ดูแลรักษาง่าย ต้นกล้ามีความสม่ำเสมอ ประหยัดค่าแรงงานในระยะกล้า เป็นต้น

สำหรับการย้ายกล้าปลูก ให้ดำเนินการตามกระบวนการเพาะกล้าตามที่กล่าวแล้ว และเตรียมหลุมปลูกตามระยะที่กำหนดจากนั้นนำต้นกล้าย้ายปลูกลงในหลุมตามระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวที่ได้กำหนดไว้ โดยการฉีกถุงพลาสติกที่ใช้เพาะกล้าออกแล้วย้ายลงในหลุมปลูก ควรย้ายกล้าช่วงประมาณเวลา 17.00 น. จะทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวกและต้นกล้าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

    1. ปลูกเป็นหลุม หรือปลูกแบบแถวเดียว เป็นการปลูกแบบในไร่ หรือในสวนยกแปลงกว้าง ระยะระหว่างแถวประมาณ 1.5 เมตร ระหว่างต้น 1 เมตร หรือ 1.5x1.5 เมตร หยอด 5 เมล็ดต่อหลุม เมื่องอกเห็นใบจริงแล้วทำการถอนแยกเหลือแต่ต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงไว้ 2-3 ต้นต่อหลุม
    2. การปลูกเป็นแถว เหมาะสำหรับสวนขนาดเล็กที่ยกแปลงแคบ คือปลูกเป็นแถวคู่ ระยะระหว่างแถวประมาณ 1.5 เมตร ระหว่างต้น 5 เชนติเมตร เมื่อปลูกแล้วถอนให้เหลือต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงไว้ 2 ต้น ต่อหลุม แล้วปักค้าง ค้างควรยาว 2 เมตร ปักแถวเอียงเข้าหากันคล้ายรูปสามเหลี่ยม การปักค้างช่วยให้ดูแลรักษาง่าย เก็บผลง่าย แต่ทำเป็นการค้าจะเสียค่าใช้จ่ายสูง

การหยอดเมล็ดปลูกนั้นก็ปลูกลงในหลุมโดยตรง ลึกประมาณ 2.5 เชนติเมตร แล้วกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วจะใช้ดินผสมก็ได้ แล้วรดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะ คลุมด้วยฟางแห้งเพื่อช่วยรักษาความสะอาดเมื่อแตงกวาเริ่มเลื้อยหรืออายุประมาณ 14 วันหลังจากหยอดเมล็ด ถ้าปลูกแบบวิธีที่สองก็ควรจะทำค้าง เพื่อให้ต้นแตงเลื้อยพันขึ้นไป (ปักค้างหลุมละ 1 อันเอนเข้าหากัน ใช้ไม้พาดขวางอีกประมาณ 2-3 อัน)

การให้น้ำ

          การให้น้ำควรให้สม่ำเสมอบ่อยๆ เนื่องจากแตงกวามีระบบรากไม่ค่อยลึก การให้น้ำพอเหมาะจะช่วยให้ผลผลิตสูงและผลมีขนาดสมบูรณ์ดี อย่าให้ดินเปียกแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่า การให้น้ำควรให้แบบปล่อยไหลท่วมแปลงจนดินชุ่ม แต่จะต้องไม่ท่วมเปียกเถาเพราะจะเกิดโรคทางใบได้ง่าย หรือจะให้น้ำแบบตามร่องก็กะให้พอดี ไม่ควรให้น้ำแบบสปริงเกอร์ หรือแบบพ่นฝอย เพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรคทางใบมาก
          ระยะแรกควรให้น้ำ 2-3 วันต่อครั้ง เมื่อต้นแตงกวาเริ่มเจริญเติบโตแล้วจึงปรับช่วงเวลาการให้น้ำ          ให้นานขึ้น ข้อควรคำนึงสำหรับการให้น้ำ คือ ต้องกระจายในพื้นที่สม่ำเสมอตลอดแปลงและตรวจดูความชื้นในดินไม่ให้สูงเกินไปจนกลายเป็นแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่าได้

การพรวนดิน

          ช่วยให้ดินร่วนโปร่ง รักษาความชุ่มชื้นในดินและช่วยกำจัดวัชพืชด้วย แต่การพรวนดินควรระมัดระวังอย่าให้เป็นอันตรายต่อแตง เถาแตงเปราะและหักง่าย ซึ่งจะเป็นทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้

การให้ปุ๋ย

เนื่องจากแตงกวาเป็นพืชกินผล ปุ๋ยที่ควรให้ควรมีสัดส่วนของไนโตรเจน 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโปแตสเซียม 1.5-2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 14-14-21 ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ พื้นที่ปลูกที่เป็นดินทรายก็ควรเพิ่มสัดส่วนของโปแตสเซียมให้มากขึ้น

การใส่ปุ๋ยแบ่งเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งใส่รองพื้นตอนปลูกพรวนกลบลงไปในดิน เมื่อต้นอายุได้ประมาณ 20 วันก็ใส่ปุ๋ยที่เหลือ ใส่โรยข้างแล้วพรวนดิน

สำหรับปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต เมื่อแตงกวาเริ่มโตขึ้นอายุประมาณ 7-10 วัน ให้โซเดียมไนเตรทประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อหลุม ต้นแตงกวาจะเจริญและแข็งแรงดี แต่ถ้าแตงกวาไม่เจริญเท่าที่ควรก็พิจารณาใส่โซเดียมไนเตรทในอัตราเดิมอีก 1-2 ครั้ง การให้ปุ๋ยไนโตรเจนกับแตงกวาในระยะแรกมีความสำคัญต่อการติดผลและการเจริญเติบโตมาก

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวผลแตงกวาประมาณ 30-40 วันหลังจากหยอดเมล็ด ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์ หรืออาจจะพิจารณาอายุตั้งแต่วันผสมเกสรจนถึงวันเก็บเกี่ยว สำหรับแตงกวาดอง คือ 3-4 วันหลังจากดอกบาน แตงกวาบริโภคผลสดใช้เวลา 6-7 วันหลังจากดอกบาน

การเลือกเก็บแตงกวาดอง ควรพิจารณาถึงขนาดเป็นสำคัญ คือขณะผลยังอ่อนอยู่ ยังไม่มีเมล็ด ควรเก็บทุกๆ วัน เก็บได้นานประมาณ 1 เดือน

แตงกวาบริโภคสด เลือกผลอ่อน, กรอบ, เนื้อแน่นและก่อนที่เมล็ดภายในผลจะแข็ง การเก็บแตงกวาบริโภคผลสดควรเก็บไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้แก่คาต้น เพราะต้นจะโทรมเร็วกว่าการเลี้ยงผลอ่อนหลายๆ ผล จึงทำให้ผลผลิตทั้งหมดลดลง

แตงกวาพื้นเมืองบ้านเราผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนปนขาวขนาดประมาณ 7-10 เซนติเมตร และผลแก่จะมีสีเหลือง แตงกวาที่เก็บมาใหม่ๆ จะอยู่ได้เพียง 2-3 วันก็จะเสียคุณภาพ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีผลขนาด 20-25 เชนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวปนขาว หรือสีเขียวเข้มทั้งผล

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกแตงกวา” ถ้าสนใจเรื่อง “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ 

Top